โบราณว่าไว้ ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน แต่การเลือกที่จะเลี้ยงสุนัขไม่สามารถที่จะใช้หลักการนี้ได้ เนื่องจากสุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตมิใช่เรือนหรืออู่ที่ให้เลือกได้ สุนัขมีชีวิตมีจิตใจ มีความรู้สึก มีอารมณ์และมีนิสัยที่เป็นลักษณะเฉพาะประจำพันธุ์ หากจะนำมาเลี้ยงควรที่จะศึกษานิสัยแต่ละพันธุ์ว่าเหมาะสมกับเราหรือไม่ ซึ่งการเลือกเลี้ยงสุนัขสักตัว มีหลายสิ่งที่ควรพิจารณาในการตัดสินใจ เพื่อให้ได้สุนัขที่เหมาะสม โดยปกติเรามักเลือกสุนัขตามลักษณะที่ปรากฏภายนอกที่เห็นเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงนิสัย อารมณ์และความต้องการของสุนัข เมื่อได้สุนัขที่ไม่ตรงกับความต้องการจะส่งผลทำให้ไม่ชอบสุนัขตัวนั้นและจะต้องเลี้ยงต่อไปอีกนับสิบปี หรือต้องหาเจ้าของใหม่ให้กับสุนัข หรือหากสุนัขนั้นโชคร้ายเจ้าของอาจนำไปปล่อยทิ้ง ทำให้เกิดสุนัขจรจัดซึ่งเป็นปัญหาของสังคมตามมา แต่เหตุการณ์ที่น่าสลดใจเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากมีหลักการในการเริ่มต้นพิจารณาเลือกพันธุ์สุนัข ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกพันธุ์สุนัขมาเลี้ยง โดยมีหลักในการพิจารณา ดังนี้
จุดประสงค์ของการเลี้ยง
การเลือกเลี้ยงสุนัขอาจมีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงหลายประการ เช่น เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นเพื่อนคลายเหงา เป็นผู้คุ้มกันหรือยามเฝ้าทรัพย์สิน เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน เป็นที่ให้ความสำราญกับครอบครัว หรือเพื่อเพาะพันธุ์ขาย โดยสุนัขแต่ละพันธุ์จะมีคุณสมบัติต่างๆกันไปตามวัตถุประสงค์การเลี้ยง
ชนิดของสุนัขที่ต้องการ
สุนัขในประเทศอเมริกาถูกจัดเป็นกลุ่มหรือชนิด ตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไป ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีนิสัยและอารมณ์แตกต่างกันไปตามแต่ละพันธุ์ ดังนั้นหากจะเลือกเลี้ยงสุนัขควรศึกษานิสัยของสุนัขแต่ละพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับนิสัย หรือความต้องการของผู้เลี้ยง ซึ่ง AKC แบ่งสุนัขเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้
1. สุนัขใช้ในงานกีฬาล่าสัตว์ (Sporting or Gun Dog) เป็นสุนัขที่ใช้เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สะกดรอยสัตว์ บอกที่ซ่อนและเก็บสัตว์ที่ถูกยิงได้กลับคืนมาให้เจ้าของ จึงมีนิสัยชอบการออกกำลังกาย ฉลาด ว่องไว สุนัขในกลุ่มนี้ เช่น Golden Retriever, Labrador Retriever , Cocker Spaniel ฯลฯ
2. สุนัขล่าเนื้อ (Hound) เป็นสุนัขที่มีสัญชาตญาณในการล่าเนื้อ โดยใช้เทคนิคการดมกลิ่นหรือใช้ สายตา วิ่งได้เร็วและสง่างาม ได้แก่พันธุ์ Afgun Hound , Borzoi , Greyhuond เป็นต้น หรือพวกที่ดม กลิ่นอย่างเดียวในการล่า มีนิสัยชอบขุดคุ้ย จึงไม่เหมาะกับสังคมเมือง เช่น Basset Hound , Beagle และ Duchshund ฯลฯ
3. สุนัขใช้งาน (Working) เป็นสุนัขที่ถูกมนุษย์นำมาใช้แรงงาน เนื่องจากมีความอดทนสูง ตัวโต แข็ง แรงและแกร่ง สามารถนำมาฝึกให้ทำงาน เช่น การเฝ้ายาม การลากเลื่อน เป็นต้น ได้แก่ Boxer , Doberman Pinscher , Great Dane , Rottweiler , St. Bernard ฯลฯ
4. สุนัขเทอร์เรียร์ (Terrier) มักเป็นสุนัขที่มีขนาดเล็ก ร่าเริง แข็งแรง อดทน กล้าหาญ อยากรู้อยากเห็น น่ารัก หน้าตาดูตลก ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี แต่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องการความสงบ และ ตัวผู้มักมีนิสัยก้าวร้าว ได้แก่ Bull Terrier , Miniture Schnauzer , ฯลฯ
5. สุนัขของเล่นหรือจิ๋ว (Toy) เป็นสุนัขที่มีขนาดเล็กมาก แต่แข็งแรง เลี้ยงไว้เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา ที่ดี และไม่ควรเลี้ยงปล่อยไว้นอกบ้าน สุนัขกลุ่มนี้มีทั้งพันธุ์ที่ขนยาวและขนสั้น ได้แก่ Chihuahua , Poodle , Pug , Shih Tzu ฯลฯ
6. สุนัขไม่ใช้เพื่อการกีฬาล่าสัตว์ หรือ สุนัขสารพัดประโยชน์ (Non-Sporting or Utility) เป็นสุนัขที่มี ความสามารถหลายด้านหรือสารพัดประโยชน์ ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มใดได้ และบางพันธุ์ถูกนำมา พัฒนาให้มีความสวยงามเพื่อเป็นสุนัขแฟนซี ได้แก่ Bichon Frise , Boston Terrier , Bulldog , Chow Chow ฯลฯ
7. สุนัขต้อนฝูงสัตว์ (Herding) เป็นสุนัขที่เลี้ยงเพื่อใช้ในการคุมฝูงปศุสัตว์ในทุ่งหญ้าให้เป็นไปตาม ความต้องการของเจ้าของ ได้แก่ ฝูงโคและฝูงแกะ สุนัขในกลุ่มนี้มีความแคล่วคล่องว่องไว และฉลาด เช่น Collie , German Shepherd ฯลฯ
อายุของสุนัขที่เริ่มเลี้ยง
การเลือกเลี้ยงสุนัขไม่ว่าลูกสุนัขหรือสุนัขโต สุนัขแต่ละระยะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป การเลี้ยงลูกสุนัขจะมีลักษณะเหมือนเด็กเล็ก ต้องเป็นผู้ที่มีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการเก็บและทำความสะอาดสิ่งขับถ่ายของลูกสุนัข และต้องฝึกหัดการขับถ่ายให้เป็นระเบียบ แต่จะมีข้อดีคือได้มีความผูกพันธ์กับสุนัขมาก จากความน่ารัก และพฤติกรรมที่คล้ายเด็กของลูกสุนัข ส่วนการเลี้ยงสุนัขโต จะมีข้อดีคือ การดูแลจะไม่ยุ่งยากเหมือนลูกสุนัข หรือใช้เวลาในการดูแลน้อยกว่า แต่สุนัขจะต้องมีการปรับตัว จากการเปลี่ยนเจ้าของและที่อยู่ หากเป็นสุนัขที่มาจากฟาร์มอาจเคยชินกับการอยู่ในกรง เมื่อมาอยู่กับเจ้าของใหม่ถ้าเลี้ยงในบ้าน สุนัขอาจทำให้บ้านสกปรกได้
ขนาดของสุนัข
สุนัขแต่ละพันธุ์มีขนาดตัวเมื่อโตเต็มที่แตกต่างกันไป จึงควรรู้ขนาดและน้ำหนักของสุนัขเมื่อโตเต็มที่ สำหรับขนาดของสุนัขแบ่งคร่าวๆ เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ขนาดจิ๋วหรือทอย เช่น ปักกิ่ง ,ปัก ฯลฯ 2. ขนาดกลาง เช่น คอคเกอร์ สเปเนียล ฯลฯ 3. ขนาดใหญ่ เช่น เยอรมันเชฟเฟอร์ด ฯลฯ และ 4. ขนาดยักษ์ เช่น เซนต์เบอร์นาร์ด ฯลฯ ซึ่งขนาดของสุนัขมีผลต่อปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่
1. ลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้เลี้ยง โดยทั่วไปสุนัขขนาดใหญ่จะต้องการพื้นที่มากในการเลี้ยง เพื่อใช้ใน การวิ่งออกกำลังกาย ซึ่งไม่เหมาะกับที่อยู่อาศัยที่เป็นสังคมเมืองหรืออพาร์ทเมนต์ หากนำสุนัขมาเลี้ยง อาจต้องนำสุนัขมาขังกรง เราจะไม่เห็นความน่ารักตามธรรมชาติของสุนัขที่เลี้ยงไว้ เป็นการทรมาน สัตว์ นอกจากนี้อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับเพื่อนบ้าน จากการร้อง เห่า และหอนของสุนัขที่ ถูกขัง ซึ่งหากจะเลี้ยงสุนัขเพื่อเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัวไม่ควรกักขังสุนัข ให้สูญเสียอิสระภาพ
2. ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสุนัข ในการเลี้ยงสุนัขจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในครอบครัว เริ่มตั้งแต่ ค่าพันธุ์สุนัข และเมื่อสุนัขโตขึ้นสุนัขขนาดใหญ่จะกินอาหารมากขึ้นตามน้ำหนักตัว ดังนั้นค่าอาหารสุนัขจะต้องจ่าย เพิ่ม รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมจะตามมา จากการขับถ่ายของเสียที่มากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการกำจัดที่ เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับสังคมรอบข้างหรือส่วนรวมได้
3. สมาชิกในครอบครัว ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก อาจไม่เหมาะกับการเลี้ยงสุนัขขนาดใหญ่บางพันธุ์ เนื่องจากสุนัขขนาดตัวโตอาจเล่นกับเด็กรุนแรงหรือวิ่งชนทำให้บาดเจ็บได้ นอกจากนี้สุนัขบางพันธุ์ที่มี นิสัยซุกซนไม่อยู่นิ่ง จะไม่เหมาะกับสมาชิกผู้สูงอายุที่ต้องการความสงบ
4. อายุขัยของสุนัข หากเราเลี้ยงสุนัขเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว ย่อมต้องการให้สุนัขอยู่กับเรา นานๆ ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียและการเสียใจเกิดขึ้นจากการตายของสุนัขที่เลี้ยง ซึ่งขนาดของ สุนัขจะมีความสัมพันธ์กับอายุขัยของสุนัข โดยทั่วไปแล้วสุนัขที่มีขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์จะมีอายขัย เฉลี่ยต่ำกว่าสุนัขที่มีขนาดกลาง ในขณะเดียวกันสุนัขขนาดจิ๋วหรือทอยมักมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่าสุนัข ขนาดกลาง
เพศของสุนัข
เพศของสุนัขเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการตัดสินใจเลือกเลี้ยงสุนัข การเลี้ยงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขายพันธุ์ จำเป็นต้องเลี้ยงสุนัขเพศเมีย หากเลี้ยงเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ควรพิจารณาเพศของสุนัขให้เหมาะสมกับความต้องการที่จะเลี้ยง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสุนัขเกือบทุกพันธุ์เพศผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีความสง่างามและมีขนาดที่ใหญ่กว่าเพศเมีย แต่อาจมีนิสัยก้าวร้าวและสอนยากกว่าเพศเมีย ส่วนสุนัขเพศเมียต้องเอาใจใส่และดูแลมากกว่า นอกจากนี้แล้วสุนัขเพศเมียที่โตเต็มที่และสมบูรณ์พันธุ์จะเป็นสัด (heat) หรือแสดงอาการต้องการได้รับการผสมพันธุ์ปีละ 2 ครั้ง (ยกเว้นสุนัขไทย ปีละครั้ง) หรือทุก 6 เดือน ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ต้องการจะสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนเองต่อไป หากไม่มีสุนัขเพศผู้ในบ้านสุนัขเพศเมียที่เป็นสัดจะหนีออกจากบ้านไปหาตัวผู้นอกบ้านเพื่อรับการผสมพันธุ์ ต่อจากนั้นสุนัขจะตั้งท้องและคลอดลูกออกมาซึ่งอาจไม่ทราบว่าเป็นลูกของสุนัขพันธุ์ใดหรือตัวใด การมีลูกสุนัขเพิ่มขึ้นทำให้เจ้าของต้องดูแลลูกสุนัขมากขึ้นและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือต้องหาเจ้าของใหม่ให้กับลูกสุนัขเหล่านั้น และหากลูกสุนัขไม่ใช่ลูกสุนัขพันธุ์แท้ การแจกจ่ายทำได้ยากกว่าลูกสุนัขพันธุ์แท้ ในขณะเดียวกันสุนัขเพศผู้อาจหนีออกจากบ้านไปเฝ้าสุนัขเพศเมียที่เป็นสัดได้เช่นกันโดยไม่สนใจเจ้าของหรืออาหารที่ให้ แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยความเห็นแก่ตัวของผู้เป็นเจ้าของ โดยการกักขังสุนัขไม่ให้ได้เจอกับสุนัขเพศตรงข้าม เพื่อไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์ หรือการนำสุนัขไปผ่าตัดทำหมัน เพื่อมิให้สืบทอดเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติต่อไปได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำหมันสุนัขเพศเมียจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเพศผู้
สุนัขพันธุ์แท้หรือพันธุ์ผสม
โดยทั่วไปแล้วลูกสุนัขพันธุ์ผสมแทบจะไม่มีราคา ซึ่งคนส่วนใหญ่หากจะซื้อสุนัขมาเลี้ยงจะต้องการพันธุ์แท้มากกว่า ดังนั้นลูกสุนัขพันธุ์แท้จึงมีราคาสูงกว่าหลายสิบเท่าตัว สำหรับข้อดีของสุนัขพันธุ์แท้ คือ สามารถที่จะคาดการได้ว่าเมื่อสุนัขโตขึ้นจะมีนิสัย อารมณ์ สีขนและลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามสายพันธุ์ของสุนัขพันธุ์นั้นๆ ในขณะที่สุนัขพันธุ์ผสมไม่สามารถคาดการได้ว่าเมื่อลูกสุนัขโตขึ้นจะมีลักษณะอย่างไรอาจไม่เป็นไปตามความต้องการของเราก็ได้ แต่อาจเดาลักษณะได้บ้างจากแม่สุนัขตัวนั้น ส่วนพ่อสุนัขอาจไม่ทราบว่าเป็นตัวใด สุนัขพันธุ์ผสมก็มีข้อดีในตัวเหมือนกัน คือ มีความแข็งแรงสูง เนื่องจากการผสมข้ามพันธุ์ นอกจากนี้แล้วสุนัขพันธุ์แท้ต่างประเทศบางพันธุ์อาจไม่เหมาะกับสิ่งแวดล้อมในบ้านเราที่อากาศร้อน หรือต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานกว่า แต่สำหรับสุนัขพื้นเมืองของไทยแล้วสามารถเลี้ยงได้ทุกสภาพของประเทศไทย
ขนของสุนัข
ขนของสุนัขโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ขนสั้น ขนยาวและขนเส้นลวด การเลือกสุนัขที่มีลักษณะขนเช่นไรขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน สุนัขที่ขนสั้นจะใช้เวลาในการดูแลแปลงขนและอาบน้ำน้อยกว่า จึงเหมาะกับคนที่มีเวลาให้กับสุนัขน้อย ส่วนสุนัขที่มีขนยาวเหมาะกับคนที่มีเวลาในการแปลงขนและต้องดูแลขนเป็นพิเศษมากกว่า นอกจากนี้แล้วสุนัขที่มีขนยาวไม่ควรเลี้ยงในบริเวณที่เปรอะเปรื้อนหรือสกปรก เพราะทำให้การดูแลขนไม่สะดวกและสุดท้ายอาจต้องตัดขนทิ้งทั้งตัว
พันธุ์ประวัติสุนัข
ใบพันธุ์ประวัติ คือ ใบที่บอกว่าสุนัขตัวนั้นเกิดเมื่อใด มีพ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษในแต่ละชั่วอายุเป็นตัวใด และยังบ่งบอกถึงว่าใครเป็นเจ้าของสุนัขตัวนั้น ซึ่งเราสามารถดูได้ว่าสุนัขที่จะซื้อมีสายพันธุ์มาจากที่ใด นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการนำสุนัขตัวนั้นไปทำการผสมพันธุ์ต่อไป เพื่อป้องกันผสมเลือดชิด ซึ่งอาจทำให้ลูกสุนัขที่ออกมาพิการ อ่อนแอ หรือมีลักษณะด้อยที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น โดยทั่วไปสุนัขที่มีใบพันธุ์ประวัติจะมีราคาที่แพงกว่าสุนัขที่ไม่มีพันธุ์ประวัติประมาณ 2-6 เท่าตัว
เมื่อเราพิจารณาตามปัจจัยในการเลือกสุนัขได้แล้วว่าสุนัขพันธุ์ใด เพศใด ที่เหมาะสมกับเราหรือตรงตามความต้องการของเราแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาซื้อและเลือกสุนัขตัวที่สมบูรณ์ที่สุด การหาซื้อสุนัขเพื่อนำมาเลี้ยงควรมั่นใจในแหล่งที่จะซื้อสุนัข ไม่แนะนำให้ซื้อลูกสุนัขในตลาดค้าสัตว์เลี้ยง เพราะนอกจากไม่สามารถทราบที่มาของสุนัขเหล่านั้นแล้ว ลูกสุนัขที่เดินทางมาสู่ตลาดร่างกายจะเครียดและอ่อนแอ จึงติดเชื้อโรคได้ง่ายและนำมาเลี้ยงไม่รอด ควรซื้อจากฟาร์มหรือคอกที่เชื่อถือได้ ซึ่งสามารถเลือกและเห็นพ่อ-แม่สุนัขของลูกสุนัขเหล่านั้นได้ สำหรับการเลือกลูกสุนัขแต่ละตัวอาจพิจารณาจากลักษณะดังต่อไปนี้
- ลักษณะภายนอก
ได้แก่ลักษณะที่ปรากฏทั่วไปบนตัวลูกสุนัข เป็นต้นว่า มีหัวและใบหูเป็นไปตามสายพันธุ์ ดวงตาแจ่มใส จมูกของสุนัขที่สุขภาพดีจะต้องชื้นและเป็นมัน ไม่มีน้ำมูกและควรมีสีตรงตามพันธุ์ ปากและฟันประกบ กันสนิทพอดีไม่ยื่นยาวหรือสั้นเกินไป ผิวหนังเป็นมันยืดหยุ่นได้ดีไม่มีรังแค ขนเป็นมันเงางามอ่อนนุ่ม และไม่หลุดร่วง ลำตัวสมดุลไม่โค้งงอ ท้องไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป สะดือไม่ปูดออกมา เพราะอาจมี ปัญหาไส้เลื่อนเมื่อโตขึ้นได้ ทวารหนักปกติไม่มีเศษอุจจาระติด เท้าแข็งแรงตั้งตรงขนานกัน ไม่บิดงอ หรือเอียง และอวัยวะเพศสมบูรณ์ คือ เพศเมียควรมีอวัยวะเพศปกติ ส่วนในเพศผู้จะต้องมีลูกอัณฑะครบ สมบูรณ์ 2 ใบ หากมีเพียงใบเดียวเรียกว่า ทองแดง ถือว่าเป็นความผิดปกติที่รุนแรง เพราะเป็นลักษณะที่ สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ จึงไม่ควรเลือกซื้อโดยเด็ดขาด
- ท่าทาง
ลูกสุนัขที่ดีต้องยืนมั่นคงแข็งแรงสมดุล ขาไม่กาง หรือ ขาหลังไม่งอท่าทางร่าเริง แจ่มใส ขี้เล่น ขี้สงสัย ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว การเคลื่อนไหวปกติ แคล่วคล่องว่องไว
- อารมณ์หรือนิสัย
เราสามารถที่จะทดสอบดูว่าลูกสุนัขตัวนั้นเป็นอย่างไร โดยการตบมือ สั่นหรือเขย่าสิ่งของให้ลูกสุนัขดู แล้วดูการตอบสนองของลูกสุนัข หากตัวใดแสดงอาการตกใจ กลัว ขี้ขลาด ขี้อาย หนีหรือกัด ไม่ควรซื้อ แต่ควรเลือกซื้อลูกสุนัขที่มีมีนิสัยเป็นมิตร กระดิกหาง เห่าตอบสนอง หรือกล้าหาญ ขี้เล่น ขี้สงสัย ฉลาด และปราดเปรียว
ส่วนอายุของลูกสุนัขที่เราเลือกซื้อควรเป็นลูกสุนัขที่หย่านมแล้วและฝึกให้กินอาหารเก่งแล้วเท่านั้น หรือควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน หากซื้อลูกสุนัขที่อายุต่ำกว่านี้โอกาสเลี้ยงรอดมีน้อยมาก และเมื่อได้ ลูกสุนัขมาแล้วควรมีการดูแลเอาใจใส่ให้ความรักและความจริงใจ เสมอต้นเสมอปลาย แม้ว่าสุนัขที่โต ขึ้นความน่ารักแบบเด็กๆจะลดลงก็ตาม และนึกเสมอว่าท่านมีภาระรับผิดชอบสมาชิกในครอบครัวเพิ่ม ขึ้นอีกหนึ่งชีวิต จงเลี้ยงเขาเสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัว แต่อย่าเลี้ยงเพื่อตอบสนองความ อยากชั่วครั้งชั่วคราว และจงระลึกไว้ว่าวัดมิใช่สถานที่สำหรับเลี้ยงสุนัขที่เราไม่รับผิดชอบ
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก www.leepattana.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น